top of page

ปัญหาของ Alma?


Year 1909. Toblach. Alma Mahler (1879-1964) and Gustav Mahler (1860-1911). Near Trenkerhof.

Gustav Mahler เป็นคีตกวีอีกหนึ่งคน ที่เรื่องราวของชีวิตมีตำนานแห่งความเป็นศิลปินที่โดดเดี่ยว เต็มไปด้วยความเจ็บปวด ภายใต้อัจฉริยภาพแห่งดนตรีและบทเพลงที่ยิ่งใหญ่อลังการสะเทือนจิตวิญญาณของผู้ฟัง ประวัติชีวิตของ Mahler ถูกแต่งแต้มให้เต็มไปด้วยเรื่องราวของความรัก ความผิดหวัง ความพ่ายแพ้ต่อร่างกายและชีวิต แต่ข้างกายเขา มีภริยาที่อุทิศทั้งชีวิตของเธอให้กับการสร้างสรรค์ของเขา นั่นก็คือ Alma Mahler สาวน้อยวัย 22 ปี ที่เป็นที่ต้องตาสำหรับสุภาพบุรุษในสังคมชั้นสูงและตัวละครหลักของเวียนนาในสมัยนั้นหลายคน


Alma Margaretha Maria Schindler คีตกวี นักเขียน และสาวสังคมชั้นสูงชาวเวียนนา เติบโตขึ้นมากับดนตรีและเริ่มมีผลงานการประพันธ์ตั้งแต่แรกรุ่นวัยเยาว์ เธอถูกสอนโดย Max Burckhard เรียนรู้มากมายจาก Alexander von Zemlinsky หรือแม้แต่เรื่องของ First Kiss จาก Klimt จนกระทั่งเธอได้เริ่มพบกับ Gustav Mahler ศิลปินนักประพันธ์ผู้มีชื่อเสียงอีกหนึ่งคนของกลุ่ม fin-de-siècle สองสามครั้งในกิจกรรมการขี่จักรยาน (จากบันทึกของเธอ) และครั้งสำคัญที่ Salon ของ Berta Zuckerkandl ที่ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นที่ที่ทั้งสองพบรักกัน และแต่งงานกันหลังจากนั้นภายในระยะเวลาอีกปีกว่า



เรื่องราวของ Gustval และ Alma Mahler ก็คงจะเป็นเหมือนเรื่องราวของนักประพันธ์และภริยาที่มีอัจฉริยะทางดนตรีแต่เสียสละพรสวรรค์เหล่านั้นให้กับการทำงานเพื่อดูแลสามีผู้เป็นนักประพันธ์อัจฉริยะ (กว่า) จากเรื่องราวของ Mahler ที่เราได้ยิน หลายครั้งที่กล่าวถึงการเสียสละไม่รู้จบของ Alma ในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดสำหรับสามีของเธอเพื่อการประพันธ์เพลงของเขา หน้าที่ของเธอในการช่วยคัดลอกโน้ต การไปรับเขาจาก Hofoper ยามที่เขาซ้อมหรือทำงานติดพัน อารมณ์ที่ขึ้นลงคาดเดาไม่ได้ของ Mahler การลิดรอนโอกาสในงานดนตรีของเธอ จนเธอบันทึกไว้ครั้งหนึ่งว่า "I have been ill for a long time. But for several days and nights I have been weaving music in my mind, so loud and persistent ... Gustav lives his life, and I too must live his life."


สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้ฟังดูเป็นสิ่งใหม่สำหรับนักดนตรีหญิงในยุค Romantic หรือ Modern สักเท่าไหร่นัก เรื่องราวที่เกิดขึ้นซ้ำๆ และมักจะในที่สุด เพิ่มสีสันด้วยเรื่องราวของการพบรักใหม่หรือการทรยศ ดังที่ Mahler ประสบในช่วงท้ายของชีวิต แม้ในวันที่ Freud แนะนำเขาให้เปิดโอกาสให้ Alma ได้ประพันธ์เพลงบ้าง แต่นั่นก็ช้าไปเสียแล้วสำหรับการเยียวยาความสัมพันธ์ เรื่องราวของ Mahler จบลงด้วยการเสียชีวิตของ Gustav และการแต่งงานใหม่อีกสองครั้งของ Alma ที่สุดท้าย ก็แต่งงานกับ Franz Werfel ชายชาวอารยันผู้สมบูรณ์แบบ มิใช่ชายชาวยิวผู้ด่างพร้อยด้อยค่าแบบ Gustav Mahler ในความคิดของเธอ


เรื่องนี้คงจะจบไปเหมือนกับเรื่องราวของนักประพันธ์คนอื่นๆ หากนักประวัติศาสตร์ดนตรีในยุคหลัง ไม่ได้ค้นพบว่า บันทีกและจดหมายของ Mahler ที่ถูกจัดพิมพ์โดย Alma ภายหลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้วนั้น มีส่วนหนึ่ง (หรือส่วนใหญ่) ที่ถูกแก้ไขโดยเธอ มีการตั้งข้อสังเกตว่าเธอทำลายจดหมายที่เขาเขียนถึงเธอ และตีพิมพ์เพียงแต่หนึ่งฉบับ รวมทั้งในบรรดาจดหมาย 159 ฉบับที่ตีพิมพ์ เธอได้ปรับแก้เนื้อความ หรือแม้แต่ตัดต่อข้อความไปกว่า 122 ฉบับ ทำให้นักประวัติศาสตร์หรือผู้ที่ค้นคว้าในเรื่องราวของ Mahler ได้ข้อมูลที่เป็นการสรรค์สร้างและจัดวางจาก Alma ไปโดยไม่รู้ตัว ทำให้ยุคภายหลังจากนั้น ต้องมีการศึกษาเปรียบเทียบเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับ Mahler อีกมากมาย และกลายเป็นประเด็นที่รู้จักกันในฐานะของ Alma's Problem


ในชีวิตจริง เรื่องราวจบลงด้วยจากตายจากกันไปของทั้งสองคน โดยในงานศพของ Alma เธอปฏิเสธที่จะมีบทเพลงของ Mahler บรรเลงในงาน แม้ว่านักดนตรีอีกหลายล้านคนจะบูชา Mahler ราวกับเทพเจ้า แต่เมื่อมาอ่านข้อเขียนของเธอยามที่เธอใช้ชีวิตอยู่กับ Gustav ที่ว่า "I sit down at the piano, dying to play, but musical notation no longer means anything to me. My eyes have forgotten how to read it. I have been firmly taken by the arm and led away from myself. And I long to return to where I was." บางที การสร้างเรื่องราวของ Gustav Mahler ขึ้นใหม่ ด้วยความเข้าใจของเธอ และความรู้สึกที่เธออยากจะถ่ายทอด อาจเป็นบทประพันธ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเธอ และเป็นวิธีในการที่จะกลับไปสู่โลกของสาวสังคมเปี่ยมฝัน และเป็นการแก้แค้นโลกที่ไม่ได้เปิดโอกาสให้เธอได้มีพื้นที่ยืนได้เท่าสามีอัจฉริยะของเธอ


ตกลงแล้วเรื่องนี้เป็นปัญหาของใคร ฉันยังสงสัยอยู่

Recent Posts

See All

Salon of Berta Zuckerkandl

Around 1900, Vienna’s artistic elite met at the home of the salonnière Berta Zuckerkandl. The dinner in November 1901 is the stuff of legend: Gustav Mahler fell head over heels in love with young Alma

bottom of page