top of page

Poster Design - Santi Lawrachawee- Practical Design Studio

Chamber Music

In Dialogue with Anothai Nitibhon

ในปี 1902 แบร์ตา ซุกเคอร์คันเดิล (Berta Zuckerkandl) นักวิจารณ์ศิลปะผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดในเวียนนา เขียนในอัตชีวประวัติของเธอพอสรุปความได้ว่า เธอได้เชิญกุสตาฟ คลิมท์ (Gustav Klimt) ศิลปินที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของออสเตรียในห้วงเวลานั้นมาที่บ้าน พร้อมด้วยโรแดง (Rodin) ประติมากรชาวฝรั่งเศสผู้เรืองนาม ทั้งสองถูกจัดให้นั่งข้างๆ หญิงงาม

อัลเฟรด กรุนเฟลด์ (Alfred Grunfeld) ผู้เคยเล่นเปียโนถวายจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 1 ของเยอรมนี นั่งอยู่ที่เปียโนในห้องโถงรับแขกที่เปิดกว้างถัดออกไป​ คลิมท์เดินไปขอให้เขาบรรเลงเพลงของชูแบร์ท (Schubert) กรุนเฟลด์ขยับซิการ์ในปาก

พรมนิ้วมือบนคีย์ และแล้วท่วงทำนองที่ชวนฝันก็พากันล่องลอยเคลียคลอล้อควันซิการ์ ซึ่งอ้อยอิ่งนิ่งช้าอยู่ในอากาศ 

โรแดงเอนตัวหันมาถามคลิมท์ว่า ผมไม่เคยพานพบประสบการณ์เช่นนี้ ทั้งภาพเขียน เฟรสโกอันยิ่งใหญ่อลังการของเบโทเฟน 

ซึ่งแลเห็นความเศร้าศร้อย นิทรรศการที่ดูคล้ายวิหาร ทว่าเรียงร้อยจนไม่อาจลืมเลือน แล้วยังจะมีสวนสวย ดนตรี สตรีงาม

ผมอยากถามคุณว่า คุณทำทั้งหมดนี้ด้วยเหตุผลใดกัน

คลิมท์หันมาตอบสั้นๆ ว่า "ออสเตรีย"

จากหนังสือ ปัญญาหนึ่งถึงร้อยหมื่น ของคุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา 

สำนักพิมพ์ openbooks

*กุสตาฟ คลิมท์ วาดภาพชุด Beethoven frieze ในงานนิทรรศการซีเซสชันครั้งที่ 14 เพื่อยกย่องชีวิตและผลงานของเบโธเฟน

ปัจจุบันแสดงอยู่ที่อาคารซีเซสชัน (secession) ในกรุงเวียนนา

'Schubert at the Piano' by Gustav Klimt

คอนเสิร์ตครั้งนี้ เกิดจากการที่อาจารย์สันติ ลอรัชวี ศิลปินดีไซเนอร์คนสำคัญ ที่ไม่เพียงแต่สร้างสรรค์งานสวยๆให้กับสถาบันฯ  มาตั้งแต่เราเริ่มทำงาน แต่อาจารย์ยังเป็นผู้ร่วมงานที่ก่อร่างสร้างความคิดและแรงบันดาลใจมาตลอดการทำงานช่วงห้าปีนี้

เราได้มีโอกาสทำงานร่วมกันนอกเหนือจากหน้าที่ครั้งหนึ่ง เมื่ออาจารย์ชวนไปปะติดปะต่องานดนตรีให้กับนิทรรศการเปิดตัวหนังสือ 'สิทธารถะ' ของคุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา แห่ง openbooks จากงานเล็กๆ ที่งดงามและอบอุ่น ต่อยอดมาเป็นความคิด ที่อยากจะเห็นความหมายของการแสดงดนตรี เติบโตขึ้นกว่าวาระของการร่วมเสพซึ่งความงามและความสุขเพียงชั่วขณะ ไปเป็นการเริ่มต้นของบทสนทนาระหว่างมิตรสหายและครูบาอาจารย์ที่เคารพ ในการสะท้อนคิดเรื่องราว ปรากฏการณ์ และชีวิต ดังที่โลกของเชมเบอร์มิวสิคเคยสร้างบทสนทนาของความคิดที่นำไปสู่การสร้างสรรค์และความเปลี่ยนแปลงมากมายในประวัติศาสตร์ของดนตรีและวิถีที่เปลี่ยนแปลงของโลก

เพื่อที่เมื่อในอนาคต หากมีคนมาถามฉันว่า คุณทำทั้งหมดนี้ด้วยเหตุผลใดกัน 

ฉันจะได้ไม่อายคลิมท์ และมีคำตอบให้แม้เพียงในใจ ว่าฉันเล่นดนตรีไปเพื่อสิ่งใด

ขอขอบคุณอาจารย์สันติ สำหรับจุดเริ่มต้นของงานนี้ ขอบคุณอาจารย์ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ที่แม้จะมีโอกาสได้พบเพียงสองครั้ง แต่ก็ได้สร้างข้อคิดและแรงบันดาลใจ ให้มองไปข้างหน้าและสร้างสรรค์งานได้ต่อ ขอบคุณเพื่อนสนิทมิตรสหาย และครูบาอาจารย์ทุกท่าน ที่รับปากจะมาร่วมแสดง แม้ว่าจะไม่แน่ใจว่าอโณทัยจะทำอะไร แต่ความเชื่อใจของทุกท่าน คือมิตรภาพที่มิอาจประเมินค่า เป็นสิ่งที่มีความหมายยิ่ง และเป็นเหตุผลสำคัญสำหรับการมีชีวิตในดนตรีต่อไป

ขอขอบคุณทุกท่านจากใจ

อโณทัย นิติพน

bottom of page