top of page

Curatorial Note

แนวคิดเรื่อง Chamber Music Concert เริ่มต้นมาจากที่เริ่มทำงานกับสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนามาตั้งแต่ปี 2557

มีคอนเสิร์ตที่ผ่านหูผ่านตา ผ่านมือการจัดงานมานับร้อย

ได้ฟังบทเพลงที่ศิลปินเลือก หรือเราเลือกให้ศิลปินหลายร้อยเพลง

ครอบคลุมดนตรีทุกยุคสมัย ตั้งแต่เรเนซองส์ถึงดนตรีร่วมสมัย ลูกทุ่งถึงอิเลกทรอนิกส์

ดาราบรรเลงเดี่ยว จนร้อยนักดนตรี สองร้อยนักร้องคนธรรมดา

ได้เห็นคนเดินเข้าออกเวที ก่อนเพลง หลังเพลง ไฟเปิด ตบมือ ประตูปิด คนดูแยกย้าย

เห็นภาพคนจัดที่ต้องประสานงานร้อยแปด ก่อนนักดนตรีจะเริ่มเสียงแรกของคอนเสิร์ต

นับแต่ตั้งงบประมาณเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้าน การเขียนโครงการ ขออนุมัติ ประชุม อีเมลล์ติดต่อ 

การเดินทาง รถรับส่ง โรงแรม อาหารกลางวัน ห้องซ้อม ของว่าง แสตนด์โน้ต เก้าอี้ แสงสว่าง หอแสดง เก้าอี้ผู้ชม การจัดจ้าง ใบเสนอราคา โปสเตอร์ สูจิบัตร บัตรเชิญ แผนที่ ใบตอบรับ บัตรที่นั่ง 

ไปจนถึงการบันทึกเสียง วิดีโอ ภาพถ่าย  Facebook Live ช่อดอกไม้ ของที่ระลึก แบบสอบถาม  

ทำ DVD คืนเงิน ส่งใบเสร็จ ตรวจรับ ปิดโครงการ สรุปแผน รายงานผล และวางแผนในการจัดงานครั้งต่อไป

ทั้งหมดนี้ ช่วงเวลาที่ดนตรีเกิดขึ้นจริง มีเพียงเสี้ยวหนึ่ง

ในเวลาประมาณ 60 นาที หรือ 3600 วินาที ที่เสียงแรกบังเกิด เสียงสุดท้ายจางหาย

ในหอแสดงที่ผู้ฟังตกอยู่ในภวังค์ของดนตรี ที่สื่ออารมณ์ความรู้สึก

ไม่นับร้อยพันชั่วโมงที่นักดนตรีบรรจงสร้าง 

วาระแห่งการเกิดขึ้นของคอนเสิร์ตนั้นคืออะไร

ในหอแสดงห้องหนึ่ง กับนักดนตรีนับร้อยนับพัน

หลายร้อยชั่วโมงของการแสดง กับผู้ฟังที่เดินเข้าออกตลอดห้าปีกว่าหมื่นคน

บนเวทีที่ส่องสว่างด้วยไฟพาร์

ผู้ฟังแทรกตัวอยู่ในความมืด กลั้นหายใจเพื่อให้นักดนตรีก้าวเข้าสู่ความสว่างไสว

บทเพลงแรกเริ่มต้น ตามด้วยบทเพลงสอง สาม สี่ และอังกอร์หากยังมีผู้ชื่นชม หรือมีทักษะทางสังคมด้านดนตรีคลาสสิก

หลายครั้ง ที่เราต้องปิดประตูเสียงเบาเมื่อนักดนตรีเริ่ม มองตาเขียวและสั่นศรีษะกับผู้คนที่เดินออกกลางเพลง

หยุดเพื่อนและครอบครัวของนักดนตรีไว้ภายนอก เนื่องจากดนตรีได้เริ่มบรรเลง และไม่ควรมีสิ่งใดสำคัญไปกว่าคนบนเวที

เราต้องปิดไฟมืด เพื่อไม่ให้การเคลื่อนไหวของคนดู รบกวนจิตใจอันเป็นสมาธิของผู้แสดง

เราต้องหยุดเสียงทุกเสียง ทุกการเคลื่อนที่ เพื่อที่เมื่อเสียงแรกบังเกิด สภาวะแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของดนตรี

จะครอบคลุมไปทุกอณูของห้องแสดง

ฉันหายใจไม่ออก และนับวันจะรู้สึกเหมือนกับตาบอดลงทุกขณะ

ฉันไม่สบายใจ ที่เห็นเส้นแบ่งของนักดนตรีกับผู้ฟังแยกออกจากกันราวกับความสว่างกับความมืด

ยามที่เป็นนักดนตรี ฉันได้ยินคำชื่นชมจากผู้ชมเมื่อการแสดงเสร็จสิ้น ถึงความมหัศจรรย์ของปรากฏการณ์ที่เขาได้ประจักษ์

แต่อีกด้านหนึ่งของใจฉัน ฉันรู้สึกสะท้านใจยิ่งนัก ว่าเมื่อก่อนที่จะแสดง เรายังเป็นคนที่ไม่ได้มีทักษะของดนตรีมาแบ่งกั้นกัน

แต่เมื่อฉันเดินลงจากเวที คำชมเชยเหล่านี้ แม้จะทำให้ปีติ และรู้สึกตนว่าเป็นนักมายากลจอมขมังเวทย์

ที่สามารถสะกดผู้คนให้หลับไหลไปกับความฝันและจินตนาการที่สรรค์สร้าง

แต่นั่นก็ทำให้ฉันรับรู้ถึงระยะทางระหว่างฉันกับผู้คน

แลสะท้อนใจว่าช่องว่างระหว่างคนอันที่เกิดจากดนตรี ถูกทำให้กว้างถึงเพียงนี้ได้อย่างไร

เมื่อมาเผชิญหน้ากับ แนวคิดของ Chamber Music อีกครั้ง

ฉันตั้งใจ ว่าเวทีนี้ จะไม่เป็นเพียงลานการแสดงที่เอาไว้จัดวางตั้งโชว์ผู้แสดงที่เลอค่า กับดนตรีที่ยากจะจับต้อง

และความว่างเปล่าที่เย็นเยียบระหว่างนักดนตรีและผู้ฟังของเขา

แต่จะต้องเป็นพื้นที่ ที่เรา นักดนตรีและเพื่อนของฉัน จะมาสร้างบทสนทนา

เหมือนกับที่ครั้งหนึ่ง

ดนตรี เคยเป็นเครื่องปลอบประโลมจิตใจ และสร้างจินตนาการ

ในช่วงเวลาที่ความหนาว ยัดเยียดให้ผู้คนต้องมาหลบอยู่ในพื้นที่ที่มีกำแพงป้องกันความเย็นจับขั้วหัวใจ

ในที่ที่ความสว่างกว้างเท่าแสงเทียน ดึงดูดให้ผู้คนมาอยู่ใกล้กัน

การแสดงในวันนี้

จะเป็นการเชิญครู ชวนเพื่อน ชักนำคนที่รัก ให้มาร่วมกันสร้างบทสนทนา อันมีที่มาจากบทเพลง

ในพื้นที่ที่ถูกจำกัดด้วยกำแพงสี่ด้าน เพดาน และพื้น

แต่เสียงดนตรี จะพาเราออกไปเดินทาง 

สะท้อนความคิด และสร้างแรงบันดาลใจ ให้ไปใช้ชีวิตภายนอกห้องแสดงดนตรีได้อย่างมีพลัง 

ที่ซึ่งแม้เสียงสุดท้ายจะจางหายไป

แต่ความคิดยังคงเดินทาง

และมิตรภาพได้เริ่มต้น

bottom of page